วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2552

แกงสมุนไพร...ตอนที่ 2



ชะพลู (ไทยภาคกลาง), พลูลิง, ผักอีไร (ภาคเหนือ) ช้าพลู พลู (จันทบุรี) พลูลิงนก (เชียงใหม่) ผักพลูนก ผักปูนก พลูลิง (พายัพ) นมวา (ภาคใต้) ผักนางเลิก ผักอีเลิด (อีสาน)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Piper Sarmentosum
วงศ์ : PIPERACEAE
ถิ่นที่อยู่ : พรรณไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นตามที่ลุ่มตํ่าและแฉะ โดยมากมักจะปลูกไว้รับประทาน ตามบ้านและมีขึ้นได้ทั่วไปทุกจังหวัดในประเทศไทย
ชะพลูเป็นไม้เถาเลื้อย ใบเป็นรูปหัวใจสีเขียวเข้ม เป็นมัน มีรสฉุนและออกเผ็ดเล็กน้อย
ชะพลูมีอยู่ 2 ชนิด ชนิดเป็นพรรณไม้เถา ลักษณะลำต้น ใบ ดอก และรสก็มีลักษณะเดียวกัน แต่จะผิดกันตรงที่ลำต้นเป็นเถาเท่านั้น ส่วนคุณสมบัติในทางยาก็ใช้อย่างเดียวกัน ชนิดเถานี้เรียกกันว่า ชะพูเถา(ไทยภาคกลาง) ปูริงนก ผักปูริง ผักปูลิง ผักอีเลิด (ภาคเหนือ)
ส่วนที่ใช้ : ต้น ใบ ราก ใช้เป็นยา
สรรพคุณ : ต้น ใช้เป็นยารักษาเหสมหะในทรวงอก
ใบ ทำให้เสมหะงวดแห้งและช่วยเจริญอาหารยังใช้ปรุงเป็นยารักษาธาตุพิการ และธาตุนํ้าพิการ บำรุงธาตุ
ลำต้น รสเผ็ดร้อน แก้เสมหะในทรวงอก ขับเสมหะ แก้รู้สึกว่าแห้งในอก ( ธาตุน้ำในอก )
ดอก ( ลูก ) รสเผ็ดร้อน แก้ศอเสมหะ ทำให้เสมหะแห้ง ช่วยย่อยอาหาร ขับลมในลำไส้
ราก รสเผ็ดร้อน แก้คูถเสมหะ ขับเสมหะให้ตกทางทวารหนัก บำรุงธาตุ ขับลมในลำไส้ ทำให้เสมหะแห้ง

สารที่พบ
ชะพูลมีน้ำมันหอมระเหยที่ทำให้เกิดกลิ่นเผ็ดฉุน และมีคุณค่าทางสารอาหารที่สำคัญ คือ
มีแคลเซียมและสารเบต้า-แคโรทีนในปริมาณสูงในส่วนของงานวิจัยเป็นการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยมหิดล โดยศึกษาฤทธิ์การลดน้ำตาลในเลือดของสารสกัดชะพลู
(ใช้น้ำสกัดเอาสารสำคัญของชะพลูทั้งต้น) โดยใช้หนูทดลอง ผู้ทดลองแบ่งหนูออกเป็น 2 กลุ่ม
หนูกลุ่มแรกถูกเหนี่ยวนำให้เป็นเบาหวาน หนูกลุ่มที่สองเป็นหนูปกติ แล้วฉีดสารสกัดของชะพลู
เข้าไปในหนูทั้งสองกลุ่ม วัดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อฉีดเข้าไปครั้งแรกพบว่าสารสกัดชะพลูในขนาด 0.125 และ 0.25 กรัมต่อน้ำหนักของหนู 1 กิโลกรัม ไม่ช่วยลดระดับน้ำตาลของหนูกลุ่มที่เป็นเบาหวาน แต่เมื่อให้สารสกัดต่อไปอีก 7 วัน พบว่าระดับน้ำตาลในเลือดของหนูกลุ่มที่เป็นเบาหวานลดลง ซึ่งผู้ทดลองก็ได้นำยาแผนปัจจุบัน คือ ไกลเบนคลาไมด์ (Glibenclamide) มาทดสอบกับหนูทั้งสองกลุ่มเช่นกัน พบว่าได้ผลเช่นเดียวกับสารสกัดชะพลู
ในใบชะพลู 100 กรัม ให้พลังงานกับร่างกาย 101 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
-เส้นใย 4.6 กรัม
-แคลเซียม 601 มิลลิกรัม
-ฟอสฟอรัส 30 มิลลิกรัม
-เหล็ก 7.6 มิลลิกรัม
-วิตามินบีหนึ่ง 0.13 มิลลิกรัม
-วิตามินบีสอง 0.11 มิลลิกรัม
-ไนอาซิน 3.4 มิลลิกรัม
-วิตามินซี 22 มิลลิกรัม
-โปรตีน 5.4 กรัม
-คาร์โบไฮเดรต 14.2 กรัม
-และให้เบต้า-แคโรทีนสูงถึง 414.45 ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล
ข้อควรระวัง
ไม่ควรรับประทานใบชะพลูมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการเวียนศรีษะ และทำให้มีการสะสมของสารออกซาเลท (Oxalate) ในร่างกายสูง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคนิ่วในไต

มาทำแกงชะพลูกันเถอะค่ะ


เครื่องแกง
พริกขี้หนูแห้ง 15-20 เม็ด (แต่ถ้าใครชอบเผ็ดมากก็ใส่เพิ่มได้)
เกลือ 2 ช้อนชา
ตะไคร้ซอย 1 ต้น
พริกไทยดำ 1 ช้อนชา
กระเทียม 3-5 กลีบ
ขมิ้น 2 แว่น
กะปิ 1 ช้อนโต๊ะ
เครื่องปรุง
มะพร้าว 4 ขีด
ใบมะกรูด 3 ใบ
ใบชะพลูซอยบาง 2 กำมือ
หอย ขมสับก้นแล้ว 1 กิโลกรัม (แต่ถ้าเป็นหอยที่หาเองก็ควรนำมาล้างและแช่น้ำขังไว้ 1 คืนก่อนเพื่อให้โคลนออก ก่อนที่จะสับก้นหอยแล้วล้างอีกครั้ง ตั้งจนสะเด็ดน้ำ)

วิธีทำ
1. นำเครื่องแกงที่เตรียมไว้มาตำรวมกันให้ละเอียด จากนั้นใส่กะปิและตำอีกครั้งจนเข้ากัน
2. คั้นมะพร้าวเป็นหัวกะทิ 1 ส่วน หางกะทิ 2 ส่วน นำกะทิส่วนหางมาตั้งไฟจนกะทิเดือดจนได้ที่ ใส่เครื่องแกงที่ตำแล้วลงไปคนจนเครื่องแกงละลาย
3. นำหอยขมใส่ลงไปตั้งไฟจนสุก (เพราะในหอยขมจะมีพยาธิ ถ้าหากไม่สุกเมื่อกินเข้าไปแล้วก็จะทำให้พยาธิไปโตในท้องได้) เมื่อหอยสุกก็เติมหัวกะทิลงไป ตามด้วยใบมะกรูดฉีก ปรุงรสด้วยน้ำตาล น้ำปลา จนได้รสชาติถูกปากเป็นอันเสร็จ
*** จะเปลี่ยนจากหอยขม มาเป็นเนื้อก็ได้ค่ะ (อย่าลืมย่างเนื้อให้พอหอมก่อนนะคะ)

จากวารสารสมุนไพรใกล้ตัว

ผักแปม...ผักที่บ้านอื่นไม่มี


นี่ก็เป็นผักสมุนไพรอีกชนิดที่พ่อเอามาปลูกไว้ในบ้านลูกที่ชลบุรี คนทางนี้ไม่รู้จัก หรือแม้แต่คนเหนือรุ่นใหม่ๆก็จะไม่รู้จัก..

ผักแปม จัดเป็นไม้พุ่มหรือพุ่มกึ่งยืนต้น มีความสูงต้น 2-8 เมตร เปลือกต้นที่แก่จะเป็นสีน้ำตาล กิ่งก้านอ่อนจะเป็นสีเขียว มีหนามแหลมงุ้มยาว 3-5 มิลลิเมตร กระจายอยู่ทุกส่วนของลำต้น กิ่งก้านและใบ ก้านใบจะแตกออกจากลำต้นสลับไปมา ก้านใบยาว 5-6 ซม. ใบยาวรี รูปไข่ หรือรูปรีแกมไข่ ขอบใบหยักแบบฟันเลื่อย หรือซี่ฟันเส้นใบเห็นชัดทั้งด้านบนและด้านล่าง ปลายใบแหลม เป็นติ่งยื่นยาวออกไป ฐานใบสอบแหลม ในแต่ละก้านใบ แยกเป็นใบย่อย 5 ใบ ใบตรงกลางจะใหญ่ที่สุด ขนาดของใบกว้าง 2-3 ซม. ยาว 4-7 ซม. ดอก ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ก้านช่อยาว 2-7 เซนติเมตร ดอกมีจำนวนมากติดกันเป็นกระจุกที่ปลายก้าน แบบดอกผักชี ก้านดอกเล็กยาว 10-12 มิลลิเมตร กลีบรองกลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายมี 5 หยัก กลีบดอกมี 5กลีบ เกสรผู้มี 5 อัน เกสรเมียมี 2 ช่อง ท่อเกสรเมีย 2 อัน ผลแบนมีขนาดกว้างและยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร

ประโยชน์ของผักแปม
ยอด
ใบนำมาใช้แกงอ่อม หรือรับประทานสดกับลาบ
เปลือกต้น น้ำต้มจากเปลือกต้น หรือถ้าจะให้ผลเร็วขึ้น ให้นำเปลือกไปย่างหรืออบเสียก่อนแล้วแช่ในแอลกอฮอล์ใช้แก้โรคผอมแห้ง และโรคประสาท
เนื่องจากผักแปมมีรสขมอมฝาดเล็กน้อย จึงมีสรรพคุณช่วยแก้อาการท้องอืดได้ด้วย

การปรุงอาหาร ชาวเหนือนิยมรับประทานยอดอ่อนของผักแปม โดยการรับประทานเป็นผักสดแกล้มกับลาบหมู ลาบเนื้อวัว หรืออาจนำมาใส่แกงอ่อมชาวเหนือเล่าว่าหากเอาผักแปมจิ้มกับลาบ จะทำให้มีรสกลมกล่อมและเชื่อว่าดับกลิ่นคาวได้ด้วย หรือแกงเมือง โดยใช้ส่วนผสมเดียวกันกับ "แกงผักฮ้วน" ทุกอย่างค่ะ