วันพุธที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2552
บางพัฒนาการของเด็ก ที่ (หลายคน) ควรรู้... (ตอนที่ 1)
บทความนี้คัดตัดตอนมาจากเอกสารชิ้นหนึ่ง (ไม่รู้ที่มา) หากเป็นของนักวิชาการท่านใดก็ขออนุญาตเผยแพร่เพื่อเป็นความรู้ สำหรับคนที่เป็นแม่ (เป็นยายด้วย...แหะๆ) หวังว่าคงได้รับอานิสงค์นี้โดยทั่วถึงนะคะ
พัฒนาการปกติ เดือนที่ 1
ในช่วงแรกนี้ เป็นการทำความรู้จักกัน หลังจากที่ได้แต่ส่งใจถึงกันมานาน ตลอด 9 เดือน คุณแม่ต้องปรับตัวพยายามอ่านใจลูก ว่าเขาเป็นอย่างไร ต้องการอะไร และลูกเองก็กำลังเรียนรู้ ที่จะตอบสนองกับคุณเช่นกัน
เมื่อกลับออกจาก ร.พ. มาอยู่ที่บ้าน คุณแม่บางคนอาจจะได้รับคำแนะนำ และความช่วยเหลือต่างๆมากมาย จากคนรอบข้าง ในการรับคำแนะนำต่างๆเหล่านี้ คุณแม่ต้องเข้าใจว่า เด็กแต่ละคนนั้น จะมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องการกิน การนอน และแม้แต่การร้องกวน ดังนั้นข้อแนะนำต่างๆ ที่ใช้ได้ดีกับเด็กคนหนึ่ง อาจจะดูเหมือนไม่ได้ผล เมื่อนำมาใช้กับเด็กอีกคนหนึ่ง คุณจึงควรต้องใช้ความช่างสังเกต และสัญชาติญาณของความเป็นแม่ ปรับเปลี่ยนการดูแลลูก ไปตามที่เห็นสมควร ร่วมกับการสอบถาม หาความรู้จากกุมารแพทย์ที่ดูแลลูกด้วย
การร้องไห้ เป็นวิธีเดียวที่ลูกน้อยของคุณถนัด และเป็นการพยายามสื่อสารกับคุณแม่ เพื่อที่จะบอกว่าเขากำลังต้องการอะไรบางอย่างจากคุณ อาจเป็นการป้อนนม การเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือการอุ้ม เพื่อให้เขารู้สึกอบอุ่นและสบายใจว่าจะได้รับการดูแลปกป้อง
คุณแม่ต้องพยายามสังเกตว่าเสียงร้องแต่ละแบบที่ต่างกันนั้น หมายถึงอะไร ในเวลาไม่นาน คุณแม่ก็จะเดาใจลูกได้ถูกว่าเสียงร้อง และท่าทางที่เขากำลังแสดงอยู่นี้ หมายความว่าอย่างไร และถ้าตอบสนองได้ถูกต้องลูกก็จะหยุดร้อง แต่ก็อาจจะมีบางครั้ง ที่ลูกอาจจะร้องกวนโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้คุณเริ่มมีความวิตกว่า จะเกิดอะไรผิดปกติกับลูก การตอบสนองโดยการอุ้มกล่อมเด็ก เพื่อให้เขาเกิดความสบายใจ และหยุดร้องอย่างเหมาะสมนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องและดีกว่าการที่จะปล่อยให้ลูกร้องไปจนกว่าจะเหนื่อย จนหยุดร้องไปเอง โดยไม่ยอมตอบสนองต่อความต้องการของเขา (บางคนเข้าใจผิดว่า การปล่อยให้ร้องนานๆ เป็นการบริหารปอด หรือการอุ้มเวลาร้อง จะทำให้เด็กเคยตัว หรือติดมือ)
คุณอาจจะต้องลองพยายามหาท่าอุ้ม ท่าป้อนนม หรือการกล่อมเด็ก ที่คิดว่าจะทำให้เด็กสงบลงได้ และถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังเครียด และไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี ควรที่จะหาคนช่วย (เช่นคุณพ่อ, คุณยาย หรือพี่เลี้ยง) มาดูแลลูกสักพัก อย่างน้อยก็ให้คุณได้มีเวลาตั้งสติ และเริ่มมองหาวิธีอื่นที่จะช่วยลูกได้
สะดือของเด็กจะเริ่มแห้ง และหลุดไปเองในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ไม่ควรโรยแป้งลงในหลุมสะดือ แต่ควรใช้ 70% แอลกอฮอ หรือ เบตาดีน ทำความสะอาดสะดือที่กำลังจะหลุด โดยการหยอดลงไปที่หลุมสะดือหรือเช็ดลงไปให้ถึงฐานสะดือโดยรอบ วันละอย่างน้อย 1-2 ครั้ง จนกว่าจะหลุด การทำดังนี้จะไม่เกิดการเจ็บแสบและจะป้องกันการติดเชื้อได้ดี
การทานนมและการขับถ่ายในช่วงแรกๆนั้น ส่วนใหญ่เด็กจะตื่นมาทานนม และถ่ายค่อนข้างบ่อย ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของเด็กเมื่อหิว เด็กยังไม่รู้จักเวลา ว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน และมักจะถ่าย หลังการทานนมแทบทุกมื้อ เนื่องจากเป็นรีเฟลกซ์ (การทำงานของระบบประสาท ที่ไม่ต้องคอยคำสั่งจากสมอง) ที่ลำไส้จะเตรียมที่ไว้ สำหรับรับนมที่เพิ่งทานเข้าไปในกระเพาะ
เด็กหลายคน จะมีการสะอึกค่อนข้างมาก หลังการทานนม ซึ่งคุณแม่คงต้องใจเย็นๆอุ้มทำให้เรอ แล้วอาการสะอึกจะดีขึ้น นอกจากนี้หลายรายจะมีการแหวะนมเล็กน้อย เมื่อวางเด็กลงนอน ซึ่งถือว่าเป็นปกติ แต่ในรายที่มีการป้อนนมมากเกินไป (Overfeeding) ก็จะมีอาเจียนได้มาก หรือบางครั้งจะมีปัญหา รีฟลักซ์ คือการที่กระเพาะบีบตัว ขย้อนเอานมกลับออกมาทางปาก ที่เรียกว่า Gastro-esophageal reflux (GER) ซึ่งพบได้บ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนด ถ้าลูกมีอาเจียนค่อนข้างบ่อยควรปรึกษาแพทย์
ในทารกแรกเกิดนั้นมีรีเฟลกซ์หลายอย่าง ที่เห็นกันได้ง่าย คือ โมโร่รีเฟลกซ์ (MORO Reflex) เมื่อเด็กร้องหรือตกใจ จะดูเหมือนทำท่าผวา มือเท้าสั่น, รีเฟลกซ์การเข้าหาหัวนม และดูดนม ( Rooting and sucking reflexes), เด็กบางคนจะยังมีรีเฟลกซ์การจาม (sneezing reflex) อยู่บ้าง และเช่นกัน บางครั้งจะเห็นลูกนอนอยู่เฉยๆ แต่ก็ยิ้มอย่างน่ารักได้ ที่ผู้ใหญ่เรียกว่า “ยิ้มกับแม่ซื้อ” ซึ่งก็เป็นรีเฟลกซ์อีกอย่างหนึ่งนั่นเอง
ในระยะนี้ ลูกจะเริ่มลืมตามองมากขึ้น ถ้าแสงในห้องไม่สว่างจ้าจนเกินไปนัก ประมาณว่าเด็กจะมองเห็นได้ดี ในช่วงระยะประมาณ 1 ฟุต ซึ่งก็คือ ระยะที่ลูกจะเห็นหน้าคุณแม่ ในขณะป้อนนมนั่นเอง แต่การแปลผลภาพที่เห็นนั้น จะยังต้องใช้การทำงานของสมองส่วนต่างๆ อีกหลายระดับ แต่ลูกจะมีสัญชาตญาณรู้ว่า คุณคือคุณแม่ จากประสาทสัมผัสพิเศษอื่นๆอีก คือ การได้กลิ่นกายของคุณแม่ เสียงคุณแม่ที่เขาคุ้น ตั้งแต่อยู่ในท้อง การสัมผัสทางผิวกายขณะที่คุณแม่ป้อนนมเขา (ซึ่งการให้นมแม่โดยการดูดจากเต้านมนั้น จะได้มีการสัมผัสทางกายและทางใจมากกว่าการป้อนโดยใช้นมขวด) สิ่งเหล่านี้ทำให้ลูกรู้ว่า คุณคือคุณแม่ ไม่ใช่พี่เลี้ยง หรือคุณยาย ที่กำลังอุ้มเขาอยู่
( โปรดติดตาม ตอนที่ 2 )
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น