วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ดูแลตัวเองอย่างไร ในวัย...ใกล้ฝั่ง







แม้ตอนนี้ยังไม่ใกล้ฝั่งเท่าไหร่(เกือบๆแล้ว) เราก็ควรที่จะใส่ใจตัวเองให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่กับลูกหลานนานๆ คุณยายมลไปได้ความรู้มาจากเว็บไซท์ราชวิทยาลัยแพทย์ออโธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ก็เลยอยากจะเอามาแบ่งปันให้กับผู้อ่านทุกคนค่ะ

อายุมากขึ้นการดูแลสุขภาพก็ต้องยิ่งดูแลมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะคนแก่ผู้สูงวัย นอกจากตัวผู้สูงอายุเองที่ต้องเอาใส่ใจต่อสุขภาพของตนเองแล้ว บุตรหลานหรือคนใกล้ชิดก็นับเป็นส่วนสำคัญที่สามารถช่วยดูแลด้านสุขภาพให้กับ ผู้ใหญ่ในบ้านได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องหลักๆที่ไม่ควรมองข้ามได้แก่เรื่องดังต่อไปนี้
1. การนอน
1.1 เตียงนอน ควรทำด้วยวัสดุที่แข็งและมีผิวเรียบ สูงระดับเข่า เมื่อนั่งห้อยขาข้างเตียงเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี
1.2 ที่นอน ควรมีความแน่นและแข็งพอสมควร ขณะนอนไม่ทำให้ลำตัวโค้งงอ ซึ่งทดสอบได้โดยนอนหรือนั่งบน ที่นอนแล้วลุกขึ้น ใช้มือลูบบนที่นอน ถ้ารู้สึกว่าที่นอนยุบบุ๋มลงไปตามน้ำหนักตัว ไม่เรียบเสมอกัน ก็ควรเปลี่ยนที่นอน
1.3 ท่านอน ควรนอนหงายแล้วใช้หมอนหนุนใต้เข่า ให้เข่างอเล็กน้อย หรือ นอนตะแคงกอดหมอนข้าง โดยขาที่วางบนหมอนข้างให้งอสะโพกและเข่าเล็กน้อย ไม่ควร นอนคว่ำเพราะหลังจะแอ่นทำให้ปวดหลังได้
1.4 การลุกจากที่นอน ให้เลื่อนตัวมาใกล้ขอบเตียงแล้วตะแคงตัว งอเข่า งอสะโพก ห้อยเท้าลงข้างเตียง พร้อมกับใช้มือและศอกยันตัวลุกขึ้นนั่งในท่าตะแคงตัวแล้วจึงค่อยลุกยืนต่อไป ไม่ควรลุกขึ้นนั่งในขณะที่นอนหงายอยู่

2. การนั่ง
2.1 เก้าอี้ ควรมี - ความสูงระดับข้อเข่า เมื่อนั่งแล้วฝ่าเท้าจะวางราบกับพื้นพอดี
- ส่วนรองนั่ง ควรมีความลึกพอที่จะรองรับสะโพกและต้นขาได้
- พนักพิง ควรมี ผิวเรียบ เอนไปข้างหลังเล็กน้อย
- ที่เท้าแขน เพื่อเป็นที่พักวางแขนและใช้เป็นที่ยันตัวเวลานั่งหรือลุกยืน
2.2 ท่านั่ง ควรนั่งหลังตรง พิงกับพนักพิง ให้น้ำหนักลงตรงกลางไม่เอียง วางเท้าราบกับพื้น งอเข่าตั้งฉาก ต้นขาวางราบกับที่นั่งให้ข้อพับเข่าอยู่ห่างจากส่วนรองนั่งของเก้าอี้ 1 นิ้ว เพื่อป้องกันการกดทับเส้นเลือดใต้เข่า ถ้าที่นั่งของเก้าอี้ลึกมากและมีช่องว่างระหว่างหลังกับพนักเก้าอี้ ควรหาหมอนมารองแผ่นหลัง ไว้ด้วย ไม่ควรกึ่งนั่งกึ่งนอนเพราะทำให้ปวดหลังได้ง่าย ซึ่งอาจจะไม่รู้สึกปวดทันที บางครั้งข้ามวันไปแล้ว จึงจะเริ่มปวด
2.3 การนั่งส้วม ควร ใช้โถส้วมชนิดมีที่นั่ง (โถชักโครก) และ ทำที่จับบริเวณข้างโถส้วมเพื่อช่วยพยุงตัวเวลานั่งลงหรือลุกขึ้น ไม่ควรนั่งยอง ๆ เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดเข่าได้

3. การยืน
ผู้ที่เวียนศีรษะขณะเปลี่ยนท่าหรือหน้ามืดบ่อย ๆ ก่อนลุกจากเตียงหรือเก้าอี้ ให้นั่งห้อยขา ขยับข้อเท้า 5-10 ครั้ง ใช้มือจับที่ยึดเกาะข้างเตียงหรือข้างเก้าอี้ แล้วจึงค่อย ๆ ลุกขึ้นและยืนนิ่ง ๆ สักพัก เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีการเซขณะลุก
ควร ยืนให้หลังตรงในท่าที่สบาย กางขาเล็กน้อย ให้น้ำหนักตัวลงค่อนมาทางส้นเท้า ถ้าต้องยืนในท่าเดียวนาน ๆ ควรขยับตัวเปลี่ยนท่าบ่อย ๆ หรือยืนให้ลงน้ำหนักบนขาข้างใดข้างหนึ่งสลับกัน หรือ วางพักเท้าบนที่สูงประมาณ 1 คืบ
ถ้าต้องการหยิบของจากพื้น ไม่ควรก้มหลังลงไปหยิบ ใช้วิธีนั่งยอง ๆ งอเข่าและสะโพก แต่ให้หลังตรงจะดีกว่า
การหยิบของจากที่สูง ไม่ควรยื่นมือและยืดตัว ไปหยิบสุดเอื้อมควรหาเก้าอี้หรือบันได เพื่อปีนขึ้นไปหยิบจะดีกว่า
การหิ้วของ ควรปรับน้ำหนักเฉลี่ยใกล้เคียงกันและหิ้ว 2 ข้าง ไม่ควรหิ้วของข้างเดียว ถ้าใช้การอุ้มจะดีกว่าการหิ้ว

4. การเดิน
ควร เดินบนพื้นราบ ใส่รองเท้าแบบมีส้นเตี้ย ( สูงไม่เกิน 1 นิ้ว ) หรือ ไม่มีส้นรองเท้า พื้นรองเท้านุ่มพอสมควรและมียางกันลื่น มีขนาดที่พอดีเวลาสวมรองเท้าเดินแล้วรู้สึกว่ากระชับ ไม่หลวมหรือคับเกินไป ควรใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า หรือ โครงเหล็ก 4 ขา ไม่ควร เดินบนพื้นที่ไม่เสมอกัน เช่น บันได ทางลาดเอียง หรือ ทางเดินที่ขรุขระ

ขอบคุณข้อมูลจาก ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น